Monthly Archives: October 2020

มาตรการลงดาบปราบโกง ในรัฐธรรมนูญ 2560

รัฐธรรมนูญปี 2560 มี 279 มาตรา ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 53 มาตรา ที่บัญญัติเกี่ยวกับธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยสามารถจัดกลุ่มตามวัตถุประสงค์ได้ดังนี้

  1. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน

เน้นเรื่องสิทธิของประชาชนในการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ (มาตรา 41) สิทธิเข้าถึงข้อมูลของรัฐและให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเปิดเผยข้อมูล รัฐต้องสนับสนุนและปกป้องประชาชน (มาตรา 63) โดยเฉพาะ ป.ป.ช. ป.ป.ท. ต้องวางแนวปฏิบัติให้ชัดเจนพร้อมมีกองทุนขนาดใหญ่มารองรับ/

2. วางมาตรการลดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเรียกรับสินบน

เน้นเรื่องการยกเลิกและทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัย (มาตรา 77) ใช้เทคโนโลยีในการบริการประชาชน การแต่งตั้งโยกย้ายหรือใช้อำนาจใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ต้องยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม (มาตรา 78)

3. สร้างการเมืองใสสะอาด

ห้ามคนโกงเป็นนักการเมือง (มาตรา 98) ต้องมีแผนปฏิรูปการเมืองชัดเจน (มาตรา 258) มีกลไกป้องกันและลงโทษนักการเมืองที่โยกงบประมาณฯ โดยมิชอบ (มาตรา 144) กำกับการใช้เงินหลวงด้วยวินัยการเงินการคลังที่เข้มงวดขึ้น กำหนดหน้าที่นักการเมืองว่ามีตำแหน่งแล้วต้องทำอะไรต้องรับผิดชอบอย่างไร รวมถึงกำหนดมาตรฐานจริยธรรมขั้นสูงกว่าเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไป

4. สร้างความเข้มแข็งและบูรณาการระบบยุติธรรม

กำหนดให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปตำรวจ (มาตรา 258) เพื่อสร้างศรัทธาความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ยกระดับสำนักงานอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

5. สร้างสภาพแวดล้อมในสังคมที่เอื้ออำนวย

โดยมีหลายมาตรการที่ทำให้ปัจจัยที่ก่อให้เกิดคอร์รัปชันลดลง สังคมเป็นธรรมมากขึ้น คนโกงโกงยากขึ้น โกงแล้วโอกาสถูกจับลงโทษมีมากทั้งในวันนี้และอนาคต เช่น การปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชน (มาตรา 35) รัฐต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันคอร์รัปชันที่เหมาะสมเพียงพอ (มาตรา 63) เร่งเพิ่มความโปร่งใสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การทำงานเชื่อมโยงกันมากขึ้นขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

Leave a comment

Filed under Uncategorized

หรี่ตาให้กัน

หรี่ตาให้กัน..น่าเสียดายที่เรื่องนาฬิกายืมเพื่อนไปไม่ถึงมือศาล ไม่อย่างนั้นทุกอย่างคงจบอย่างมีศักดิ์ศรี สบายใจกันทุกฝ่ายเพราะได้พิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมอย่างเปิดเผย เป็นการยืนยันว่า บรรทัดฐานของกฎหมายสำคัญต่อบ้านเมืองมากกว่าความอยู่รอดของปัจเจกบุคคล

ข้าราชการและนักการเมืองทุกคนรู้ดีว่า ‘การยื่นบัญชีทรัพย์สิน – หนี้สิน และ ข้อห้ามรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นฯ’ เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติเหมือนกันไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้นคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ที่น่าประหลาดใจในกรณีนาฬิกายืมเพื่อน จึงทำให้เกิดความเห็นแย้งอย่างกว้างขวางว่า ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย[1] ผิดไปจากที่ ป.ป.ช. เคยปฏิบัติมา[2] และคำถามว่า ‘จากนี้จะป้องกันการให้สินบนเป็นสิ่งของได้อย่างไร?’ [3]

ทั้งสองมาตรการดังกล่าว เป็นมาตรฐานจริยธรรมของสหประชาชาติที่ทุกประเทศทั่วโลกยอมรับ แม้จะมีแนวปฏิบัติเข้มข้นจริงจังต่างกันไป เช่น ในประเทศเอสโตเนียหากเอกชนรายใดที่เข้าทำสัญญาค้าขายกับรัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลของบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้องให้สาธารณชนตรวจสอบได้โดยละเอียด องค์กรระหว่างประเทศและสถานฑูตต่างๆ ล้วนห้ามเจ้าหน้าที่รับเลี้ยงอาหาร รับของขวัญหรือทรัพย์สินใดจากผู้อื่นอย่างเคร่งครัด ขณะที่องค์กรเอกชนชั้นนำของไทยหลายแห่ง ห้ามพนักงานรับทรัพย์สินและของขวัญจากบุคคลอื่นทุกกรณี

‘กฎหมาย ป.ป.ช. ถือว่าข้าราชการและนักการเมืองใช้อำนาจแทนประชาชน มีโอกาสที่จะให้คุณให้โทษแก่บุคคลอื่นจนอาจเกิดความไม่ยุติธรรมและคอร์รัปชันได้ จึงต้องมีมาตรการที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชนสบายใจได้ว่า คนเหล่านี้จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่โกงกิน ไม่รับสินบนจนร่ำรวยผิดปกติ ไม่ก่อปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่วิ่งเต้นเส้นสายหรือช่วยเหลือพวกพ้อง’ พลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์ อดีตวุฒิสมาชิกและกรรมการปฏิรูปประเทศฯ อธิบาย

การยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 มีผู้ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปแล้วนับพันคนจากการไม่ยื่นหรือยื่นเท็จหลายรูปแบบ เช่น แจ้งว่าทรัพย์สินมีอยู่และแจ้งว่าไม่มี ซุกบัญชีไว้กับสามี-ภรรยานอกสมรส ญาติหรือคนใกล้ชิด แจ้งราคาสูงหรือต่ำเกินจริงอย่างมากเพื่อให้ตนดูมีฐานะดีหรือยากจน เป็นต้น มีบ้างที่เกิดจากความไม่เข้าใจหรือผิดพลาด

ข้อห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นฯ เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2542 เป็นเรื่องของการให้สินบนหรือเงินใต้โต๊ะที่มักทำกันในที่ลับ โดยคำว่า ‘ประโยชน์อื่นใด’ ยังเป็นปัญหาเพราะขาดคำจำกัดความที่ยอมรับกัน ว่าหมายถึงอะไรบ้าง ทำให้เกิดข้ออ้างสารพัด เช่น ‘ยืมใช้คงรูป’

โดยปกติเมื่อเกิดปัญหา ป.ป.ช. จะวินิจฉัยพฤติกรรมเหล่านี้อย่างเข้มงวดเพื่อรักษาบรรทัดฐานในการปกป้องสังคมมากกว่าปัจเจกบุคคล ดังที่อาจารย์วิชา มหาคุณ[4] อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ‘ไม่ว่าใครจะแจ้งบัญชีหรือชี้แจงอย่างไรก็ตาม โดยหลักแล้ว ป.ป.ช. มีหน้าที่ตรวจพิจารณาถึงพฤติกรรมและเจตนาที่ลึกกว่าทรัพย์สินและเอกสารที่ปรากฏ’

ส่วนที่ถามว่า ‘จากนี้จะป้องกันการให้สินบนเป็นทรัพย์สินกันอย่างไร’ เชื่อว่า ป.ป.ช. บอกได้ว่าจะทำอย่างไรกับปัญหากฎหมายที่ตนชี้ช่องไว้ แต่ที่ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นคือ ต้องมาพูดกันให้ชัดเรื่องจิตสำนึกรับผิดชอบต่อบ้านเมือง และออก ‘กฎหมายการขัดกันแห่งผลประโยชน์’ และ ‘กฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะ’ ที่จะช่วยสร้างความชัดเจนและเป็นประโยชน์ในระยะยาว

ดร. มานะ นิมิตรมงคล

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

1. https://www.komchadluek.net/news/politic/432502

2. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/856991

3. https://today.line.me/TH/pc/article/E26kaQ…

4. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/856991

Leave a comment

Filed under Uncategorized

กฎหมายแรงแก้เอาชนะคอร์รัปชันได้จริงหรือ

ถาม: ถ้ากฎหมายเข้มงวดและลงโทษให้รุนแรงกว่านี้ คอร์รัปชันจะหมดไป..จริงไหม?

ตอบ: คนโกงพร้อมจะหลีกเลี่ยงกฎทุกข้อ ขณะที่คนตรงไปตรงมาต้องปฏิบัติตามทุกอย่าง การมีมาตรการป้องกันคอร์รัปชันที่ปฏิบัติยากหรือมากเกินไป จึงกลายเป็นภาระและต้นทุนของบุคคลหรือหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตาม

รวมถึงหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายและหน่วยตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. กรมบัญชีกลาง แต่ถ้ากำหนดไว้ไม่ครอบคลุมก็เป็นช่องว่างให้ฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ง่าย

จึงเสนอว่า 1) มีเท่าที่จำเป็น 2) เป็นมาตรการที่ปฏิบัติได้ 3) เป็นมาตรการที่ทำให้ปรากฏหลักฐานที่เชื่อมโยงข้อมูล ทำให้หน่วยงานหรือบุคคลหลายฝ่ายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้พร้อมกัน และนำไปสู่ตรวจสอบย้อนหลังได้

อีกเหตุผลหนึ่ง การบังคับใช้กฎหมายเป็นหัวใจสำคัญ แต่ในโลกแห่งความจริงบางครั้งกฎกลายเป็นเครื่องมือของกลโกง บางครั้งคนคุมกฎก็ไปร่วมมือกับคนโกง บ่อยครั้งที่กฎและคนคุมกฎก็บิดเบือนเพราะเห็นแก่พวกพ้องและผลประโยชน์(ทางการเมือง)

ยกตัวอย่าง

เรื่องแรก ในการจัดซื้อรถเมล์ NGV ของ ‘ขสมก.’ ที่ยืดเยื้อมานับสิบปี คราวนี้จัดประมูลสำเร็จเพราะเข้าสู่กระบวนการของ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ แต่ต่อมา ‘กรมศุลกากร’ ตรวจพบว่ารถเมล์เหล่านั้นโกงภาษีโดยสำแดงเท็จแจ้งแหล่งผลิตและชำระภาษีไม่ถูกต้อง ทำให้เอกชนรายนั้นจัดหารถเมล์มาส่งมอบ ขสมก. ไม่ทันกำหนด

เรื่องที่สอง หลักฐานการเสียภาษีรายได้ย้อนหลัง 3 ปีของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ที่ยื่นต่อ คณะกรรมการเลือกตั้ง นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในเขตเลือกตั้งและสื่อมวลชนในการตรวจสอบว่า ผู้สมัครเหล่านี้ทำมาหากินจนร่ำรวยโดยซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ มีทรัพย์สินอะไรปิดบังไว้หรือไม่ ในอนาคตเมื่อมีเรื่องสงสัยว่าร่ำรวยผิดปกติ ป.ป.ช. สรรพากร ป.ป.ง. ก็นำมาเป็นหลักฐานเปรียบเทียบกับบัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่เคยยื่นไว้ต่อ ป.ป.ช. ได้ทันที

เรื่องที่สาม กฎหมาย ป.ป.ช. เคยกำหนดให้ห้างร้านที่ทำสัญญาค้าขายกับราชการตั้งแต่ห้าแสนบาทขึ้นไป ต้องจัดทำและยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายของโครงการนั้น ต่อ ป.ป.ช. ปรากฏว่ามีเอกชนยื่นเรื่องนับแสนบัญชีต่อปี มากจน ป.ป.ช.ตรวจสอบไม่ได้ คนค้าขายก็มีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเมื่อมีการแก้กฎหมายจึงยกเลิกกฎข้อนี้ไป

ดร. มานะ นิมิตรมงคล

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ

Leave a comment

Filed under Uncategorized

เงินกระตุ้นเศรษฐกิจกับคอร์รัปชัน..

ไล่เรียงข้อมูลการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ตลอด 6 ปีผ่านมา เกิดสะดุดตากับสองเรื่องที่น่าหาข้อมูลเพิ่มเติม

เรื่องแรก..ตั้งแต่สิงหาคม 2557 ถึงมกราคม 2559 (เพียง 1 ปีกับอีก 5 เดือน) รัฐบาลได้อนุมัติ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” หลายโครงการรวมกันเป็นมูลค่ามากถึง 1,074,315 ล้านบาท[1] ข้อมูลนี้ทำให้เชื่อว่าตลอด 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วมากกว่า 1.9 ล้านล้านบาทที่กำลังจะใช้ในสถานการณ์โควิดหลายเท่าตัว แต่เท่าไหร่ไม่แน่ชัดเพราะไม่พบว่ามีหน่วยงานไหนรวบรวมข้อมูลไว้

เรื่องที่สอง..มีการเปิดให้ประชาชนทั่วไป “ลงทะเบียน” เพื่อรับเงินจากรัฐตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วอย่างน้อย 6 ครั้งใหญ่ ได้แก่ โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการเยียวยาเกษตรกร โครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ชิมช้อปใช้ ช้อปช่วยชาติ โครงการบ้านดีมีดาวน์นอกจากนี้ยังมีการเปิดลงทะเบียนแจกฟรีโดยหน่วยงานรัฐ เช่น “โทรฟรี 100 นาที” และ “เน็ตฟรี 10 กิ๊ก” ของ กสทช. “100 เดียวเที่ยวทั่วไทย” ของการท่องเที่ยวฯ บางโครงการเปิดให้ลงทะเบียนและแจกเงินหลายเฟส แต่ที่งุนงงก็คือทุกครั้งที่เปิดลงทะเบียนจะเกิดความสับสน จนต้องร้องเรียนว่าข้อมูลของรัฐไม่ตรงกับความจริงของประชาชน

ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดจากประชาชนเองแต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะระบบสารสนเทศของรัฐด้อยประสิทธิภาพ ฐานข้อมูลล้าสมัยและไม่เชื่อมโยงกันหรือมีบางอย่างซ่อนเร้นไว้

ประเด็นสำคัญที่อยากรู้ตามมาก็คือ กระทรวงการคลังเคยทำรายงานสรุปไว้หรือไม่ ว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจและเปิดลงทะเบียนประชาชนเช่นนี้กี่ครั้ง กี่โครงการ เป็นเงินเท่าไหร่ แต่ละครั้งเกิดประโยชน์หรือผลสำเร็จที่มีคุณค่าเพียงใด เอาตั้งแต่มิยาซาว่า (3.5 หมื่นล้านบาท) เอื้ออาทร (ไม่ทราบวงเงิน) ไทยเข้มแข็ง (4 แสนล้านบาท) จนถึงปัจจุบัน ถ้าจัดทำแล้วก็ควรเปิดเผยให้สังคมรับรู้เพื่อเป็นบทเรียนทางเศรษฐกิจของชาติร่วมกันต่อไปจากการศึกษายังพบอีกว่า การที่นักการเมืองเจ้าของโครงการในแต่ละยุค มีความจริงใจที่จะป้องกันคอร์รัปชันมากน้อยต่างกัน จะส่งผลต่อความสำเร็จหรือความสูญเสียของโครงการที่แตกต่างกันอย่างมากด้วย

ดร. มานะ นิมิตรมงคลเลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

[1] https://bit.ly/2ydcAqM

Leave a comment

Filed under Uncategorized

“กลโกง” ที่ต้องระวังในการใช้จ่ายเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

“กลโกง” ที่ต้องระวังในการใช้จ่ายเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

1. โกงระหว่างดำเนินโครงการ

1.1 จัดซื้อจัดจ้าง เป็นการโกงที่ง่ายและทำกันมากทุกยุคสมัย

1.2 ผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ทำให้ตนเองหรือพวกพ้องได้โอกาสพิเศษหรือได้ก่อนคนอื่น 1.3 ลักขโมยหรือยักยอก เช่น เจ้าหน้าที่แอบขายของหลวงที่มีไว้แจกจ่ายประชาชน

1.4 การซื้อขายงบประมาณหรือโครงการ เช่น การวิ่งเต้นเส้นสายดึงโครงการลงพื้นที่ของตน

1.5 คนรับผลประโยชน์เป็นผู้โกงเงินหลวง เช่น ได้โดยไม่มีสิทธิ์ ได้ซ้ำซ้อนหรือได้มากกว่าผู้อื่น เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นโดยมีหรือไม่มีข้าราชการร่วมรู้เห็นก็ได้

2. โกงตั้งแต่เขียนนโยบาย (คอร์รัปชันเชิงนโยบาย)โกงแบบนี้สร้างความเสียหายให้บ้านเมืองมากที่สุด เป็นการโกงขนาดใหญ่ที่พิสูจน์เอาผิดยากเพราะเบื้องหลังได้วางแผนฉ้อฉลที่แยบยลไว้แล้ว เพื่อกอบโกยเงินทองหรือหวังผลประโยชน์ทางการเมือง อนึ่ง นโยบายที่ดีต้องไม่เอื้อให้กลุ่มการเมืองหรือบุคคลใด และต้องสนองความต้องการของประชาชนเพื่อก่อให้เกิดการฟื้นฟูประเทศอย่างแท้จริง

3. โกงในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ เป็นความ “สูญเปล่า” ที่พบบ่อยมากคือ ทำงานสักแต่ใช้เงินก็ถือเป็นผลงานแล้ว บ้างก็ใช้เงินหลวงจัดงานเอาใจชาวบ้าน เช่น จัดอบรมโดยเกณฑ์ชาวบ้านมาให้ครบจำนวนที่ตั้งไว้ ให้ทุกคนลงชื่อ จ่ายเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหาร ค่าเดินทาง โดยไม่สนใจว่าเขาจะเป็นใคร ความรู้ที่อบรมจะเป็นประโยชน์และนำไปใช้หรือไม่

เงินก้อนนี้ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นการใช้จ่ายผ่านหน่วยงานนับหมื่นแห่งทั่วประเทศจึงยากที่จะตรวจสอบ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดการโกงทุกรูปแบบที่กล่าวมา หนทางป้องกันที่ทำได้คือ รัฐบาลต้องจัดการทุกอย่างให้ “โปร่งใส” ด้วยการเปิดเผยและยินยอมให้ประชาชนตรวจสอบได้อย่างเต็มที่เท่านั้น

ขอใช้พื้นที่ท้ายบทความนี้ขอกล่าวขอบคุณ พลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์ พี่เพิ่มพงษ์ เชาวลิต พี่ประยงค์ ปรียาจิตต์ ที่กรุณาให้ข้อคิดดีๆ ทำให้ผู้เขียนเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันของประเทศลึกซึ้งมากขึ้น

ดร. มานะ นิมิตรมงคลเลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

ขอบคุณภาพประกอบจากกูเกิล

#วีรวิทคงศักดิ์#เพิ่มพงษ์เชาวลิต#ประยงค์ปรียาจิตต์

170พายคนเดิม เพิ่มเติมเดี๋ยวบอก, Sup Bosuwan และคนอื่นๆ อีก 168 คนความคิดเห็น 17 รายการแชร์ 85 ครั้งถูกใจแสดงความคิดเห็นแชร์

Leave a comment

Filed under Uncategorized

เมกะโปรเจค “เขา” โกงอย่างไร ?

เมกะโปรเจค “เขา” โกงอย่างไร ? (รวมบทความ)โครงการขนาดใหญ่ทั้งของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจไม่ว่าจะเป็น “การจัดซื้อจัดจ้าง – การร่วมลงทุนภาครัฐกับเอกชน – หารายได้จากทรัพยากรของรัฐ เช่น สัมปทาน” เป็นการลงทุนที่จำเป็นเพื่อพัฒนาประเทศ แต่ก็เป็นที่หมายตาของ “คนละโมบ” ที่จ้องกอบโกย โดยมักมีพฤติกรรมฉ้อฉลคล้ายกัน แต่รายละเอียดจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของโครงการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ การแข่งขันและสถานการณ์การเมือง โดย “เครือข่ายคนโกง” จะพยายามเข้าแทรกแซงในทุกขั้นตอนหลักๆ 1. เขียนโครงการ เพื่อให้เกิดการลงทุนหรือทำโครงการและเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ2. เขียนทีโออาร์ เช่น ล็อคสเปคสินค้า ทำให้ผู้แข่งขันบางรายได้เปรียบ ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรมด้วยการปิดบังข้อมูลบางอย่าง หรือกำหนดเงื่อนไขการเปิดซองและพิจารณาคุณสมบัติผู้ร่วมประมูล กำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ลดการแข่งขัน3. ขั้นตอนประมูล 3.1 ฮั้วประมูล ในลักษณะที่เป็นการกำหนดตัวผู้ชนะประมูล เพื่อให้ได้ราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อรัฐ เพื่อแบ่งเค้กหรือจัดสรรงาน กรณีที่มีงานของรัฐที่ต้องมีการประมูลอยู่จำนวนมาก 3.2 เขียนสัญญา (Main Contract) เมื่อได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะสามารถสอดแทรกรายละเอียด หรือเงื่อนไขต่างไปจากทีโออาร์ เปิดช่องให้มีการแก้ไขสัญญาในอนาคต ซ่อนปมเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทำกำไร หรือเอาเปรียบรัฐมากขึ้นจนอาจเสียค่าโง่ก็ได้ 4. บริหารสัญญาระหว่างดำเนินการตามสัญญาหรือระหว่างการก่อสร้าง เช่น เปลี่ยนแบบ เพิ่ม-ลดงาน ผลักภาระงานให้เป็นของรัฐ ขยายเวลาดำเนินงาน การยอมรับงานคุณภาพต่ำกว่าที่ควรเป็น หากเป็นโครงการประเภท Turn Key หรือ Design and Built ยิ่งมีความเสี่ยงสูง5. บริหารสัญญาตลอดอายุสัมปทาน/โครงการ เช่น สร้างเงื่อนไขเพื่อขยายอายุสัมปทาน เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขผลประโยชน์ ตีความสัญญาใหม่ ดังที่เคยเกิดขึ้นเช่น กรณีกรรมสิทธิ์เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ กรณีแปลงค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือเป็นภาษีสรรพสามิต เป็นต้น “ซ่อนโกง” อย่างไร ? ก่อนจะไปถึงการป้องกัน ขอเอาเรื่องจริงที่เป็น “ตัวอย่างสมมุติ” มาเล่าสู่กันฟังให้เห็นภาพว่ายังมีกลโกงอีกแบบที่เป็น “การซ่อนปมในสัญญา” ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร..แต่ความจริงแล้ว มันคือความสูญเสียขนาดใหญ่ที่นำมาสู่การจ่าย “ค่าโง่” มูลค่ามหาศาล ดังตัวอย่าง “โครงการรถไฟความเร็วสูง” ถ้า – “รัฐ” ยอมให้ “เอกชน” คู่สัญญา เสนอเพิ่ม หรือ กำหนด “จุดที่ตั้ง” และ “จำนวน” สถานีผู้โดยสารผลที่ตามมา – เอกชนคู่สัญญาจะเลือกทำเลที่ตัวเองได้ประโยชน์ และวางจำนวนสถานีให้ถี่ขึ้น โดยอ้างว่าเพื่อให้บริการผู้คนจากแหล่งชุมชนหรือย่านการค้าอุตสาหกรรมตามรายทางได้มากขึ้น ฉากทัศน์กลโกงที่เป็นไปได้ -1) เอกชนจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาที่ดินที่ตัวเองได้กว้านซื้อรอไว้บริเวณรอบๆ สถานี เช่นทำศูนย์การค้า ขายตึกแถว หมู่บ้านจัดสรร ทำสถานีรถโดยสาร โดยรัฐต้องเข้าไปสนับสนุนสาธารณูปโภค2) เมื่อมีสถานีมากขึ้น ระยะห่างระหว่างสถานีสั้นลง ทำให้รถไฟมีข้อจำกัดในการเร่งความเร็วสูงสุดในจังหวะออกตัวรถ และลดความเร็วลงเพื่อเข้าสถานี จึงเป็นข้ออ้าง “ขอลดสเปค” รถไฟจากเดิมที่ต้องทำความเร็วสูง 250 กม. ต่อชั่วโมง ลงเหลือ 180 กม. ต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วปานกลาง นั่นหมายความว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถไฟสมรรถนะสูง3) เอกชนได้ประโยชน์ทันทีจากการซื้อรถไฟ “สเปคต่ำ” กว่าเดิม ซึ่งราคาถูกลง แถมยังลดค่าดำเนินการ (Operation Cost) เช่น การซ่อมบำรุง ค่าใช้จ่ายในการเดินรถได้อีกมาก ใครเสียประโยชน์ – 1) ประชาชนเสียประโยชน์ เพราะการมีสถานีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ ย่อมทำให้รถไฟใช้เวลาเดินทางนานขึ้นจากการใช้ความเร็วต่ำลง และต้องจอดพักตามสถานีรายทางมากขึ้น ซึ่ง “ผิดวัตถุประสงค์” การมี “รถไฟความเร็วสูง” ที่ต้องการให้คนเดินทางระยะไกล ด้วยเวลาน้อยที่สุด2) ประเทศเสียประโยชน์ระยะยาว เพราะคำอธิบายว่า เพิ่มสถานีให้ถี่เพื่อบริการผู้โดยสารได้มากขึ้น ในระยะสั้นนั้น อาจดูดีเพราะมีคนได้ใช้งานตามรายสถานีมากขึ้นจริง แต่อย่าลืมว่า ในวันข้างหน้าเมื่อสังคมและการเดินทางสัญจรเปลี่ยนไป คนต้องการเดินทางระยะยาวมากขึ้น การเพิ่มสมรรถนะรถไฟจะทำได้ยาก3) เป็นการเอาเปรียบผู้ร่วมประมูลรายอื่นที่เสนอราคาตรงไปตรงมาตามทีโออาร์นี่เป็นตัวอย่างสมมุติที่อธิบายตามหลักการลงทุนและการตลาดครับสุดท้าย ประชาชนโดนหลอก?!? – – อย่าเพิ่งด่วนสรุปนะครับ โกงมากๆ อย่าคิดว่าประชาชนโง่ ! เมื่อเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะโดยหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหน่วยงานใด รัฐบาลชุดไหนก็ตาม ท้ายที่สุด ประชาชนตกเป็น “ผู้จ่าย” ดังหลายๆ กรณี ที่กลายเป็นกรณีพิพาททั้งระหว่าง “รัฐ” หรือ “รัฐวิสาหกิจ” และ “เอกชน” คู่สัญญา ดังบทเรียนจาก 2 คดี “ดอนเมืองโทลเวย์”คดีแรก ค่าโง่ 4 พันล้านบาท ที่ต้องจ่ายให้เอกชนเจ้าของสัมปทาน “ทางด่วน ปากเกร็ด – บางปะอิน” เหตุเพราะรัฐให้ขยายดอนเมืองโทลเวย์จากดอนเมืองไปรังสิต เขาจึงฟ้องว่าเป็นการให้บริการแข่งขันกับเขา ทำให้ลูกค้าเขาลดลง รัฐต้องชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากที่เขา “คาดการณ์ไว้” แม้จะมีผู้ทักท้วงว่าทางด่วนสองเส้นนี้มีต้นทางและปลายทางห่างกันไกลหลายกิโลเมตรคดีที่สอง ค่าโง่ 1.2 พันล้านบาท ที่ต้องจ่ายให้ทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ เหตุเพราะรัฐไม่ยอมให้เขาปรับขึ้นค่าทางด่วนตามข้อตกลง ยุคนี้ประชาชนรู้เท่าทันและข้าราชการที่ดีก็มีมาก เขาไม่ยอมให้ใครโกงง่ายๆ อีกแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า ยิ่งมี “พลเมืองดี” ตื่นรู้สู้โกงมากขึ้นเท่าไหร่ พวกที่คิดจะโกงโครงการขนาดใหญ่จึงยิ่งพยายามวางแผนเป็นขั้นตอน ครอบงำผู้มีอำนาจ และผู้เกี่ยวข้องระดับต่างๆ ให้ได้มากที่สุด แผนและโครงการต้องซับซ้อนเข้าใจยาก บางกรณีใช้นโยบายระดับสูงที่เรียกว่า “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” บางครั้งอาจใช้อำนาจบิดเบือน อ้างความลับราชการ ความลับทางการค้า ความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หนักหน่อยก็แก้ไขหรือออกกฎกติกาใหม่เสียเลยกฎหมายกับดุลยพินิจ – ปิดช่องโกงตามกฎหมาย หน่วยงานใดจะทำสัญญาให้ต่างไปจาก“ทีโออาร์”และ “มติครม.” ที่อนุมัติโครงการนั้น–ไม่ได้ ! จะแก้ไขสัญญาในสาระสำคัญ และไม่ได้เกิดประโยชน์คุ้มค่ากับรัฐ–ก็ทำไม่ได้ !แต่ที่ผ่านมาเกิดปัญหาเพราะ “มีการสมรู้ร่วมคิด” บิดเบือนอำพราง ซึ่งอาจเกิดจาก1. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ไปรู้เห็นหรือรับประโยชน์จากเอกชน2. คณะกรรมการหรือผู้มีอำนาจอาจอนุมัติไปโดยไม่รู้ตื้นลึก ไม่ได้ใส่ในเรื่องนั้นหรือเกรงใจใครบางคน แต่ที่แย่กว่านั้นคือมีผลประโยชน์ร่วมด้วย3. ฝ่ายเอกชนคู่สัญญาที่มีความพร้อมหลายด้าน ได้วางแผนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับไป ซึ่งคนนอกดูเนื้อหาที่ถูกแก้ไขอาจมองไม่ออกว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญที่ทำให้รัฐเสียหายได้ และกว่าจะรู้ก็สายเกินไปแนวทางป้องกันการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ที่ได้ผลวิธีที่นิยมทั่วโลก คือ อย่าไว้ใจมนุษย์ปุถุชน วางระบบที่ดี ยอมรับการตรวจสอบ เช่น1. ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างโปร่งใสเพื่อให้เกิดการตรวจสอบร่วมกัน2. ใช้ “ข้อตกลงคุณธรรม” ให้ตัวแทนประชาชนมีส่วนร่วมรู้เห็นตั้งแต่แรก และเป็นการบังคับให้ผู้เกี่ยวข้องต้องทำงานอย่างรับผิดชอบ มีวินัย ตรงไปตรงมา3. การแก้ไขแบบหรือสาระในสัญญา ควรได้รับความเห็นชอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ หรือสถาบันวิชาชีพที่สังคมยอมรับ เช่น สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สมาคมวิศวกรที่ปรึกษา เป็นต้น

ดร. มานะ นิมิตมงคลเลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

ขอบคุณ คุณปิยะวรรณ ประยุกต์ศิลป์ ที่ช่วยตรวจแก้ไขบทความ

Leave a comment

Filed under Uncategorized

1.9 ล้านล้านบาท ใช้ทำอะไรบ้าง

ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดจากรัฐบาลว่า จะทำอะไร อย่างไร ใช้เงินเท่าไหร่ในแต่ละด้านแต่ละโครงการ และใครรับผิดชอบ มีแต่ข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้ครับเงินก้อนแรก ‘1 ล้านล้านบาท’ แบ่งเป็น 3 ส่วนหรือที่ทางการเรียกว่า แผนงานหรือโครงการ ส่วนที่ 1 วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ใช้เพื่อการแพทย์และสาธารณสุข ส่วนที่ 2 วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท ใช้เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับประชาชน เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เดือดร้อน ส่วนที่ 3 วงเงิน 4 แสนล้านบาท ใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ เงินก้อนที่สอง ‘5 แสนล้านบาท’ เป็นวงเงินที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยกู้แก่ธนาคารต่างๆ นำไปปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบวิสาหกิจเงินก้อนที่สาม ‘4 แสนล้านบาท’ ใช้ตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้เงินสองก้อนนี้เป็นไปตาม พ.ร.ก. อีกสองฉบับ ซึ่งดูจากเงื่อนไขการใช้เงินและผู้รับผิดชอบแล้ว เชื่อว่าโกงหรือรั่วไหลยาก แต่ถ้ามีก็เสียหายน้อยและตรวจสอบไม่ยากเพราะมีผู้เกี่ยวข้องน้อยรายอ้างอิง……

ดร.มานะ นิมิตรมงคล

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอรืรัปชัน (ประเทศไทย)

9/5/63

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/2563/A/030/T_0001.PDFพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินฯ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/2563/A/030/T_0012.PDFพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินฯ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/2563/A/030/T_0006.PDFระเบียบสำนักนายกฯ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/2563/E/093/T_0001.PDFจัดสรรเงิน 3 ด้าน https://workpointnews.com/2020/04/19/covid-money-8/

Leave a comment

Filed under Uncategorized