Monthly Archives: December 2018

ทำไม่เป็นหรือไม่อยากทำ “นโยบายต้านโกง” 

เพราะนโยบายพรรคการเมืองทุกพรรค มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน แต่ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองและรัฐบาลต่างๆ กลับมีนโยบายต้านโกงที่ไม่ต่างกัน คือเขียนแบบกว้างๆ เน้นส่งเสริมสนับสนุน แต่ขาดความชัดเจน ไม่เจาะจงว่าจะทำอะไรอย่างไร เขียนดูดีแต่วัดผลไม่ได้ แม้แต่มติ ครม. ที่ออกมาก็เป็นเรื่องรับทราบและติดตาม เกือบทั้งหมดไม่มีอะไรจับต้องได้ ทำให้ไม่เกิดให้เกิดผลในทางปฏิบัติ คอร์รัปชันจึงลุกลามขั้นวิกฤติเช่นทุกวันนี้
ากการศึกษาพบว่า มีนโยบายต้านโกงที่แต่ละรัฐบาลนิยมเขียนคล้ายๆ กัน 12 ข้อ อาทิเช่น

– เสริมสร้างมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบทั้งในภาคการเมืองและภาคราชการ

– สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรม จริยธรรมเพื่อสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการโครงการที่ดี

– สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน

– สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ยึดหลักธรรมาภิบาลและมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนและการทำงาน และร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของท้องถิ่น

– ส่งเสริมคุณธรรมคู่ความรู้ทั้งในและนอกสถานศึกษาเพื่อปลูกฝังค่านิยม “คนไทยต้องไม่โกง”

– เสริมสร้างมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ…

– ส่งเสริมระบบการบริหารจัดการที่ดีในภาคเอกชน โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบกิจการที่โปร่งใส..

ดังนั้นในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ จึงจำเป็นที่คนไทยจะใช้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของประเทศ บอกกับนักการเมืองและพรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่า เราต้องการให้เขาทำอะไรเพื่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันโกงบ้านกินเมืองอย่างจริงจังเสียที

ร่วมใช้สิทธิ์คนไทยใน “การสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมือง” หรือ “โพลต้านโกง” ได้ทาง http://www.แจกการบ้านนักการเมืองต้http://xn--12cm6c5epd.com/ ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 14 ธันวาคม ศกนี้
..
เอกสารอ้างอิง: รายงานผลการศึกษา เรื่อง “แนวโน้มของคอร์รัปชันในประเทศไทย” จารุวรรณ สุขุมาลพงษ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, น. 4 – 9, น. 4 – 20 ถึง น. 22, กันยายน 2556

Leave a comment

Filed under Uncategorized

ทำไม ‘นักการเมืองที่มีอำนาจ’ จึงไม่ใส่ใจปราบคอร์รัปชัน..

ทำไม ส.ส. และ รัฐมนตรีที่หมดอำนาจแล้วจึงพูดจาขึงขังว่ารังเกียจคอร์รัปชันเหลือเกิน แถมมีไอเดียมากมายว่าต้องทำโน่นทำนี่จึงจะกำจัดคนโกงได้ แต่ทีเวลาอยู่ในตำแหน่ง มีอำนาจ กลับไม่เห็นมีนโยบายหรือลงมือทำอะไรให้เป็นผลงานว่าได้ปราบคอร์รัปชันจริงจัง หนำซ้ำกลับยอมให้มีการโกง เกิดพฤติกรรมอื้อฉาวให้ต้องจดจำ

คำถามนี้ตอบยากครับ แต่เท่าที่ติดตามและรับฟังจากผู้มีประสบการณ์ทำให้พอมีคำตอบน่าสนใจอยู่
บางเหตุผลที่เคยได้ยินจากรัฐมนตรีทั้งปัจจุบันและอดีต

– เกรงใจ ต้องรักษามารยาทคนทำงานร่วมกัน

– เรื่องนี้ใหญ่เกินไป ท่านเพิ่งเข้ามาขอทำเรื่องที่ทำได้ก่อน

– ก็รู้เห็นว่ามีโกงกันอยู่ แต่วันนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ ต้องพึ่งเขาช่วยทำงานช่วยขับเคลื่อนกลไกรัฐ จึงต้องมองข้ามไปก่อน ไม่งั้นเดี๋ยวเขาไม่ทำงานให้

– เรื่องมันเยอะและมีกันมานานแล้ว แต่วันนี้ขอใช้เวลาสร้างผลงาน ผลักดันนโยบายหรือโครงการของตนเองและพรรคการเมืองก่อน

เหตุผลที่ได้ฟังมาจากผู้รู้และอ่านพบจากตำรา

– คอร์รัปชันมันแฝงไปกับโครงการ คำสั่งและนโยบาย ดังนั้นแม้ตัวเองไม่โกงแต่พรรคพวกหรือเจ้าหน้าที่อาจโกงก็ได้ ถ้าไปทำทุกอย่างโปร่งใส ยอมให้ตรวจสอบมากๆ จะยุ่งยาก เผลอๆ กลายเป็นกับดักโดนตัวเองและพวกพ้องในวันข้างหน้าอีก

– จะได้นั่งอยู่ในตำแหน่งมีอำนาจนานแค่ไหนก็ไม่รู้ วันนี้เลยต้องรีบตักตวงไว้ก่อน

– “จะเปลี่ยนแปลงอะไร ไว้วันข้างหน้าค่อยว่ากัน” ที่ผ่านมาเขาก็ทำกันแบบนี้ จัดสรร เอื้อประโยชน์กันอยู่ วันนี้ถึงเวลาของพวกตนก็ต้องว่าไปก่อน

– รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่รู้ต้นตอ ไม่เข้าใจภาพรวม จึงไม่รู้จะทำอย่างไร

– เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ไม่ใช่ตนเอง
.
เห็นได้ว่าแม้นักการเมืองบางคนไม่โกงกิน แต่ก็เลือกที่จะไม่จัดการอะไรกับคอร์รัปชัน ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจดีว่า ตราบใดที่ยังควบคุมคนและระบบที่คดโกงไม่ได้ การจะลงทุนหรือทำอะไรก็ได้ผลไม่คุ้มค่า

เท่ากับว่าทุกวันนี้เราไม่รู้เลยว่า บรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองเขาคิดอย่างไรกับปัญหาคอร์รัปชัน จะโกงหรือจะลงมือแก้หรือแค่พูดดูดี

ดังนั้นในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ จึงเป็นโอกาสที่คนไทยในฐานะเจ้าของประเทศจะร่วมกันออกความเห็นว่า เราอยากเห็นนโยบายต้านโกงแบบไหนจากพรรคการเมืองและนักการเมือง โดยร่วมส่งเสียงผ่านทางเว็ปไซท์ “แจกการบ้านนักการเมืองต้านโกงดอทคอม” หรือ www.thaivoiceagainstcorruption.com ตั้งแต่วันนี้ถึง 14 ธันวาคม ศกนี้

ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ
4/12/61

#แจกการบ้านนักการเมืองต้านโกง #โพลต้านโกง

Leave a comment

Filed under Uncategorized

ดาวคนละดวงในการปฏิรูปประเทศ..

นอกจากทำให้เห็นภาพรวมว่า ในการปฏิรูปประเทศที่เราได้ยินอยู่ทุกวันนี้มีใครกำลังทำหน้าที่อะไรอยู่บ้าง คำสั่ง คสช. ที่ 19/2561 ยังทำให้เข้าอีกว่า วันนี้ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดที่รู้จริงว่าแผนและวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปฏิรูปประเทศนั้นควรเป็นอย่างไร ดังนั้นหากมองในแง่ดี คำสั่ง คสช. ฉบับนี้คือความพยายามอีกครั้งที่จะจัดกระบวนการทำงานให้บรรลุผล แต่อีกแง่หนึ่งต้องบอกว่า นับตั้งแต่มี สปช. และ สปท. เมื่อ 4 ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้เรายังย่ำอยู่กับการลองผิดลองถูกโดยขาดการยอมรับและมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและคนส่วนใหญ่ในประเทศจนทำให้การปฏิรูปไม่ก้าวไปอย่างที่ควร

สาระสำคัญของคำสั่ง คสช. ฉบับนี้คือการจัดตั้ง “สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง” เพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งไว้แล้วราว 36 คณะ (ดูรายชื่อท้ายบทความ) และอาจตั้งเพิ่มเติมขึ้นอีก

เข้าใจว่าที่รัฐบาลและ คสช. ตั้งคณะกรรมการจำนวนมากเพราะต้องการแยกภาระกิจกันทำ และเมื่อคณะเดิมที่ตั้งไว้เจออุปสรรคหรือข้อจำกัด เขาก็ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อให้ไปแก้ปัญหาหรืออุดช่องว่างเหล่านั้น แต่วิธีนี้อาจสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา คือทำให้คณะกรรมการอื่นเกิดสภาพลังเลสงสัยว่าใครมีอำนาจแค่ไหน ใครต้องฟังใคร คณะของตนมีหน้าที่แก้ไขข้อติดขัดหรือดำเนินการต่อไปเพียงใด และยังกลายเป็นภาระอย่างมากแก่หน่วยงานของรัฐที่ต้องร่วมมือและให้การสนับสนุน

แต่การมีคณะกรรมการมากอย่างนี้จะช่วยให้ปฏิรูปประเทศสำเร็จจริงได้จริงหรือ มีใครบอกได้ไหมว่าวันนี้แนวคิดและแผนงานของแต่ละคณะมีความต่อเนื่องหรือทับซ้อนกันอย่างไร หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจ ยอมรับและพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางเดียวกันแล้วหรือไม่ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าด้วยขั้นตอนราชการทำให้ปีงบประมาณ 2562 ไม่มีหน่วยงานไหนตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิรูปเลย แม้แต่ปี 2563 ก็ยังไม่รู้ว่าจะตั้งได้ทันหรือเปล่า

มีข้อสังเกตอีกว่า คำสั่ง คสช. นี้ยังรวม คกก.อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) ไว้ด้วย ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรด้วยกับเรื่อง ป.ย.ป. บางทีผู้ออกคำสั่งอาจตั้งใจให้ “หน่วยงานที่รัฐบาลชุดนี้ตั้ง” มีกฎหมายและหน่วยงานรองรับไว้ก็เป็นได้

เชื่อมั่นว่าคนไทยต้องการให้ปฏิรูปประเทศครั้งนี้สำเร็จและพร้อมให้การสนับสนุน ขอเพียงผู้มีอำนาจต้องเปิดกว้าง สร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมของคนในประเทศให้มากที่สุดครับ

ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ

คณะกรรมการตามคำสั่ง คสช.:

คกก.บริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์และการสร้างความสามัคคีปรองดอง คกก.บริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คกก.เตรียมการปฏิรูปประเทศ คกก.เตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ คกก.เตรียมการเพื่อสรางความสามัคคีปรองดอง
คกก.ขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล คกก.ขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน (มี 5 คณะ)

คกก.ติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาล คกก.การปฏิรูปกฎหมายอย่างเร่งด่วน คกก.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คกก.อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ คกก.ประสานและขับเคลื่อนนโยบายประสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด คกก.ขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย Thailand 4.0 คกก.ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม

ภาระกิจของสำนักงานแห่งนี้ ยังรวมถึงการประสานความร่วมมือกับ คกก.ยุทธศาสตร์ชาติ คกก.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (มี 6 คณะ) คกก.ปฏิรูปประเทศ (มี 11 คณะ) และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

Leave a comment

Filed under Uncategorized

ส่วยรถบรรทุก หายนะจากกติกาที่ไม่เป็นธรรม

ปัจจุบันมีรถบรรทุกสิบล้อ หกล้อ รถลากพ่วงที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกมากกว่า 1,096,765 คัน (มค. 2561) ไม่รวมรถกะบะและรถตู้ โดยประเมินว่าครึ่งหนึ่งของรถบรรทุกที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนหรือราว 5 แสนคัน เลือกที่จะบรรทุกน้ำหนักเกินแลกกับการจ่ายส่วย – สินบน เฉลี่ยคันละ 3,500 บาทต่อเดือนให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ ซึ่งเมื่อคูณด้วยจำนวนรถแล้วจะมีมูลค่ามากถึง 1,750 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 21,000 ล้านบาทต่อปี

หน่วยงานที่มีอำนาจจับกุมลงโทษรถที่ทำผิดกฎหมายมีตั้งแต่ตำรวจทางหลวง ตำรวจท้องที่ กรมทางหลวงผู้ดูแลด่านชั่งน้ำหนัก กรมการขนส่งทางบก อบต. เทศบาล และอัยการจังหวัดเมื่อมีการจับยึดรถบรรทุกน้ำหนักเกิน แต่ปรากฎว่ามีขบวนการของข้าราชการละโมภบางคนไปเรียกรับส่วย – สินบน ส่งผลให้มีรถบรรทุกกล้าทำผิดออกวิ่งให้เห็นตำตาอยู่ทุกวัน แม้จะรู้ดีว่านี่คือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติร้ายแรง คนตาย สะพานพังถนนชำรุดและมลภาวะจากฝุ่นควัน

รถ “สายแบก” หรือรถที่ชอบบรรทุกน้ำหนักเกินจะพบมากในจังหวัดฉะเชิงเทรา นครปฐมและสุพรรณบุรี อาจเป็นเพราะมีโรงงาน มีสินค้าให้ขนส่งอยู่มากและอยู่ใกล้ กทม. โดยเป็นที่รู้กัน “กทม. เป็นพื้นที่ที่เคลียร์ง่ายที่สุด” และไม่มีด่านชั่งน้ำหนักของกรมการขนส่งฯ เคลียร์แค่จราจรกลางและท้องที่ก็จบแล้ว แถมพวกนี้ยังกล้ารับเคลียร์

ถ้าใครโดนยึดรถเพราะบรรทุกน้ำหนักเกินจะต้องจ่าย 3 หมื่นบาทเพื่อให้ “เขา” สั่งปล่อยรถออกไปใช้วิ่งหากิน ส่วนคดีความก็ว่ากันต่อไป โดยทุกจังหวัดจะมีพฤติกรรมเหมือนกันคือ หากช่วงไหนมีการร้องเรียนมากๆ หรือมีเหตุการณ์ที่ตกเป็นข่าวใหญ่ ก็จะมีการจับรถที่ทำผิดแต่เป็นการจับพอให้มีผลงานและเลือกจับเฉพาะพวกขาจรหรือนอกเครือข่าย

ส่วย – สินบนมีทั้งที่จ่ายตรงให้กับคนที่อ้างตัวเป็นข้าราชการ จ่ายผู้มีอิทธิพลแลกกับสติ๊กเกอร์ติดหน้ารถเป็นสัญลักษณ์ และจ่ายให้เครือข่ายสายข่าวที่มีการช่วยเหลือกันตลอดเวลา เช่น เมื่อไหร่ด่านไหนจะเปิดจุดให้ผ่านหรือด่านจะปิดทำการในวันนั้นช่วงกี่โมงถึงกี่โมง

เมื่อถามว่า ทำไมต้องบรรทุกเกินทั้งๆ ที่รู้ดีว่าอันตรายและทำให้รถพังเร็ว คำตอบคืออยากได้กำไรมากๆ และต้องทำเพื่อความอยู่รอดเพราะเกรงว่าหากตนไม่ทำคนอื่นก็ทำ อีกทั้งยังมีแรงจูงใจและกดดันจากคนจ้างงานหรือเจ้าของสินค้าที่เห็นแก่ตัวเอาแต่ได้ กดราคาค่าขนส่งและสนับสนุนให้คนทำผิดโดยที่ตนไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบใดๆ ต่อความเสียหายที่จะตามมา

รถบรรทุกยังมีอีกหลายกรณีที่ถือเป็นความผิด 1) ความผิดของเจ้าของรถบรรทุกเอง เช่น ดัดแปลงรถ ควันดำ ขาดต่อทะเบียน ใช้รถผิดประเภท 2) พฤติกรรมการใช้รถ เช่น บรรทุกของล้นนอกตัวรถอย่างกรณีรถบรรทุกอ้อย ขนดินหกเรี่ยราด และ 3) พฤติกรรมคนขับ เช่น เสพยาบ้า ดื่มสุรา ขับเร็ว ขับแช่ช่องขวา ขับประมาทไม่รักษากฎจราจร เป็นต้น

ข้อมูลสำคัญนี้ผมได้ฟังตอนไปบรรยายในการประชุมใหญ่ประจำปีของ สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ธันวาที่ผ่านมาในหัวข้อ ฮั้วไม่จ่ายใต้โต๊ะ โดยผู้จัดงานขอให้เน้นเรื่องนี้มากๆ เพราะกำลังรณรงค์ โครงการรถบรรทุกสีขาว ให้ผู้ประกอบการหันมาจับมือกันต่อต้านการรีดไถของเจ้าหน้าที่และร่วมกันทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและคนร่วมอาชีพ

กติกาที่ไม่เป็นธรรมทำให้ประโยชน์ส่วนตัวของข้าราชการและเอกชนบางกลุ่มอยู่เหนือสาธารณะประโยชน์ จนเป็นความขัดแย้งในสังคมที่น่าเศร้าน่ารังเกียจ แต่ก็น่าดีใจและมีความหวังเมื่อได้เห็นความตั้งใจของสมาคมฯ ขอให้ภาระกิจที่ใหญ่และยากนี้ประสบความสำเร็จหรืออย่างน้อยทำให้คนขี้โกงโดนจับมากๆ และส่วย – สินบนลดลงสักครึ่งครับ

 

ดร. มานะ นิมิตรมงคล

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

19 ธันวาคม 2561

Leave a comment

Filed under Uncategorized

นโยบายต้านโกง: วาระของชาติ ความหวังของประชาชน

เป็นเรื่องน่ายินดี ที่เรากำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในอีกนานนี้  ชวนให้มีความหวังขึ้นบ้างว่า “ยุคสมัยที่การเมืองเป็นเพียงเรื่องของการแบ่งสรรผลประโยชน์อาจกำลังหมดไป แล้วก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่นักการเมืองมุ่งมั่นบริหารบ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมากขึ้น

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกพรรคการเมืองและนักการเมืองทุกคน ต้องชี้แจงรายละเอียดของแนวทางการทำงานเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันของตน เพื่อพัฒนาการเมืองไทยให้โปร่งใส เป็นที่ศรัทธาของประชาชน เช่น

1.จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับรู้ว่ารัฐบาลนำเงินภาษีไปใช้อย่างไร รัฐบาลได้ใช้อำนาจในเรื่องต่างๆ นั้นถูกต้องเป็นธรรมแล้วหรือไม่

  1. จะแก้ไขอย่างไรไม่ให้ประชาชนโดนกลั่นแกล้ง จากการออกมาต่อต้านเปิดโปงพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ได้พบเห็น
  2. จะลงโทษหรือจัดการอย่างไร เมื่อพบว่านักการเมืองในพรรคของตนมีพฤติกรรมฉ้อฉล ประพฤติตนขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรม
  3. จะป้องกันและปราบคอร์รัปชันในระบบราชการที่กำลังวิกฤติ ให้ลดลงได้อย่างไร

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เชื่อมั่นว่า วันนี้คนไทยต้องการเห็นนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีความซื่อสัตย์ จริงใจและมุ่งมั่นที่สามารถนำประเทศไทยไปสู่ยุคสมัยใหม่ได้อย่างแท้จริง

ดังนั้นหากพรรคการเมืองสามารถวางนโยบายได้ชัดเจนเหมาะสม ย่อมเป็นพรรคที่ประชาชนให้ความสนใจ และให้โอกาสเข้ามาบริหารประเทศต่อไป

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

Leave a comment

Filed under Uncategorized